เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 12. ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทส
พระผู้มีพระภาคทรงเว้นขาดจากบาปธรรมทั้งปวงในโลกนี้
ก้าวล่วงทุกข์ในนรก ทรงอยู่ด้วยความเพียร
ทรงมีความเพียร มีความมุ่งมั่น แกล้วกล้า มั่นคง
เรียกได้ว่า ทรงเป็นอย่างนั้น
คำว่า ข้าแต่พระวีระ...หวังเป็นอย่างยิ่ง (ที่จะได้ฟัง) พระดำรัสของ
พระองค์ ได้แก่ พระดำรัส คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำพร่ำสอน
คำว่า หวังเป็นอย่างยิ่ง อธิบายว่า หวังเป็นอย่างยิ่ง(ที่จะได้ฟัง) คือ ต้องการ
ยินดี ปรารถนา มุ่งหมาย มุ่งหวัง รวมความว่า ข้าแต่พระวีระ ... หวังเป็นอย่างยิ่ง
(ที่จะได้ฟัง) พระดำรัสของพระองค์
คำว่า แก่ชนเหล่านั้น ในคำว่า ขอพระองค์โปรดพยากรณ์(ปัญหา)แก่ชน
เหล่านั้นให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด อธิบายว่า แก่ชนเหล่านั้น คือ กษัตริย์ พราหมณ์
แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดาและมนุษย์
คำว่า พระองค์ เป็นคำที่พราหมณ์เรียกพระผู้มีพระภาค
คำว่า โปรดพยากรณ์(ปัญหา) ... ให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด อธิบายว่า ขอ
พระองค์โปรดตรัสบอก คือ แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย
ประกาศให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด รวมความว่า ขอพระองค์โปรดพยากรณ์(ปัญหา)แก่ชน
เหล่านั้นให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
คำว่า เพราะว่าธรรมนี้พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว อธิบายว่า เพราะว่า
พระองค์ทรงทราบแล้ว คือ ทรงรู้แล้ว เทียบเคียงแล้ว พิจารณาแล้ว ทำให้
กระจ่างแล้ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้ว รวมความว่า ขอพระองค์โปรดพยากรณ์(ปัญหา)
แก่ชนเหล่านั้นให้แจ่งแจ้งด้วยเถิด ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า
ข้าแต่พระวีระ ชนต่าง ๆ จากชนบททั้งหลาย
มาชุมนุมกัน(ในที่นี้) หวังเป็นอย่างยิ่ง(ที่จะได้ฟัง)
พระดำรัสของพระองค์ ขอพระองค์โปรดพยากรณ์(ปัญหา)
แก่ชนเหล่านั้นให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด
เพราะว่าธรรมนี้พระองค์ทรงทราบชัดแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :262 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 12. ภัทราวุธมาณวปัญหานิทเทส
[72] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภัทราวุธ)
นรชนควรทำลายเครื่องยึดมั่นทั้งปวง
ทั้งชั้นสูง ชั้นต่ำและชั้นกลาง
เพราะสัตว์ทั้งหลายเข้าไปยึดถือขันธ์ใด ๆ ในโลก
มารย่อมติดตามสัตว์เพราะสิ่งที่ยึดถือนั้นนั่นแล (3)
คำว่า นรชนควรทำลายเครื่องยึดมั่นทั้งปวง อธิบายว่า รูปตัณหา ตรัส
เรียกว่า เครื่องยึดมั่น
คำว่า เครื่องยึดมั่น อธิบายว่า รูปตัณหา ท่านเรียกว่าเครื่องยึดมั่น เพราะเหตุไร
เพราะสัตว์ทั้งหลายย่อมยึดถือ เข้าไปยึดถือ คือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นรูปด้วยตัณหานั้น
ฯลฯ ได้แก่ สัตว์ทั้งหลาย ย่อมยึดถือ เข้าไปยึดถือ คือ ถือ ยึดมั่น ถือมั่นเวทนา
ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ ฯลฯ คติ ฯลฯ อุปบัติ ฯลฯ ปฏิสนธิ
ฯลฯ ภพ ฯลฯ สงสาร ฯลฯ วัฏฏะ เพราะเหตุนั้น รูปตัณหาเป็นต้นนั้น
ท่านจึงเรียกว่า เครื่องยึดมั่น
คำว่า นรชนควรทำลายเครื่องยึดมั่นทั้งปวง อธิบายว่า นรชนควรทำลาย
คือ พึงขจัด ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งเครื่องยึดมั่นทั้งหมด
รวมความว่า นรชนควรทำลายเครื่องยึดมั่นทั้งปวง
คำว่า ภัทราวุธ ในคำว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภัทราวุธ เป็นคำที่
พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า
พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ภัทราวุธ
คำว่า ทั้งชั้นสูง ชั้นต่ำ และชั้นกลาง อธิบายว่า
อนาคต ตรัสเรียกว่าชั้นสูง อดีต ตรัสเรียกว่าชั้นต่ำ ปัจจุบัน ตรัสเรียกว่า
ชั้นกลาง
กุศลธรรม ตรัสเรียกว่าชั้นสูง อกุศลธรรม ตรัสเรียกว่าชั้นต่ำ อัพยากตธรรม
ตรัสเรียกว่าชั้นกลาง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :263 }